สาระน่ารู้สู่ความปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์

ไวรัสคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เกือบทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าท่านจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามระบบมาแล้ว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าในความจริงแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร

สาระน่ารู้สู่ความปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์

ไวรัสคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เกือบทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าท่านจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามระบบมาแล้ว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าในความจริงแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร

ชื่อเรื่อง : สาระน่ารู้สู่ความปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์
เรียบเรียงโดย : ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม
ที่มา : ThaiCERT: Thai Computer Emergency Response Team ศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ ประเทศไทย
เผยแพร่เมื่อ : 29 กรกฏาคม 2547

ไวรัสคอมพิวเตอร์เป็นปัญหาที่ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เกือบทุกคนเคยประสบมาแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าท่านจะเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามระบบมาแล้ว แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าในความจริงแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร ไวรัสคอมพิวเตอร์เข้ามาคุกคามระบบของท่านได้อย่างไร วิธีแก้ไขระบบที่ถูกคุกคามเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะทำให้ระบบของท่านปลอดภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้าน Computer Security จากหน่วยงาน ThaiCERT (http://www.thaicert.nectec.or.th/) ซึ่งมีภารกิจหลักประการหนึ่งในการเผยแพร่ความรู้และแจ้งเตือนภัยจากไวรัสคอมพิวเตอร์ ผู้แต่งขอนำเสนอความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไวรัสคอมพิวเตอร์เบื้องต้นอย่างพอเป็นสังเขป เพื่อให้ท่านสามารถป้องกันระบบจากการถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไวรัสคอมพิวเตอร์คืออะไร

ในอดีต คำว่า "ไวรัสคอมพิวเตอร์" เป็นนิยามของโปรแกรมที่สร้างปัญหาและก่อให้เกิดความเสียหายต่างๆ กับเครื่องคอมพิวเตอร์และสามารถแพร่กระจายตัวเองจากไฟล์หนึ่งไปยังไฟล์อื่นๆ ภายในเครื่องคอมพิวเตอร์ แต่ไม่สามารถแพร่กระจายข้ามเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการที่ไวรัสคอมพิวเตอร์สามารถแพร่กระจายข้ามเครื่องคอมพิวเตอร์ได้นั้นมีสาเหตุมาจากการที่ผู้ใช้นำไฟล์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ไปใช้บนเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นๆ เช่น นำแผ่น diskette หรือสื่อบันทึกข้อมูลต่างๆ ที่มีไฟล์ของไวรัสคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่มาใช้งาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปไวรัสคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนารูปแบบ เทคนิคการแพร่กระจาย ความสามารถ รวมทั้งความรุนแรงในการก่อความเสียหายให้ระบบ ที่แตกต่างไปจากเดิมมาก ดังนั้น ปัจจุบันคำว่า "ไวรัสคอมพิวเตอร์" จึงมีความหมายที่กว้างขึ้นไปจากเดิมและมีการบัญญัติคำศัพท์ขึ้นมาใหม่ว่า "มาลแวร์ (Malware: Malicious Software)" ซึ่งหมายถึงชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์ โปรแกรมหรือซอฟต์แวร์ใดๆ ที่ได้รับการจัดทำขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความเสียหายให้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์หรือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และอาจมีความสามารถในการเคลื่อนที่จากคอมพิวเตอร์หนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งหรือจากเครือข่ายหนึ่งไปยังอีกเครือข่ายหนึ่งได้ด้วยตัวเอง

นั่นคือ ปัจจุบัน "ไวรัสคอมพิวเตอร์" ถูกนำมาใช้ในความหมายของ "มาลแวร์" กันอย่างกว้างขวาง (ในบทความนี้ก็เช่นเดียวกัน) ซึ่งนอกจากจะหมายถึงไวรัสคอมพิวเตอร์ในรูปแบบก่อนๆ แล้วนั้น ยังรวมไปถึง (หรืออาจประกอบมาจากส่วนประกอบที่กล่าวถึงข้างล่างนี้)

  • หนอนอินเทอร์เน็ต (Internet Worm) ซึ่งหมายถึงโปรแกรมที่ออกแบบมาให้สามารถแพร่กระจายไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นได้ด้วยตัวเอง โดยอาศัยระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เช่น อี-เมล์ หรือ การแชร์ไฟล์ ทำให้การแพร่กระจายเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง
  • โทรจัน (Trojan) ซึ่งหมายถึงโปรแกรมที่ออกแบบมาให้แฝงเข้าไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้อื่นในหลากหลายรูปแบบ เช่น โปรแกรม หรือ การ์ดอวยพร เป็นต้น เพื่อดักจับ ติดตาม หรือควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ถูกคุกคาม
  • โค้ด Exploit ซึ่งหมายถึงโปรแกรมที่ออกแบบมาให้สามารถเจาะระบบโดยอาศัยช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการหรือแอพพลิเคชั่นที่ทำงานอยู่บนระบบ เพื่อให้ไวรัสหรือผู้บุกรุกสามารถครอบครอง ควบคุม หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดบนระบบได้
  • ข่าวไวรัสหลอกลวง (Hoax) ซึ่งมักจะอยู่ในรูปแบบของการส่งข้อความต่อๆ กันไป เหมือนกับการส่งจดหมายลูกโซ่ โดยข้อความประเภทนี้จะใช้หลักจิตวิทยา ทำให้ข่าวสารนั้นน่าเชื่อถือ ถ้าผู้ที่ได้รับข้อความปฏิบัติตามอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ เช่น การให้ลบไฟล์ข้อมูลที่จำเป็นของระบบปฏิบัติการโดยหลอกว่าเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ ทำให้ระบบปฏิบัติการทำงานผิดปกติ เป็นต้น

    หมายเหตุ: เมื่อกล่าวถึง hoax จึงขอนำเสนอความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะของ hoax อีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่เป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์รูปแบบหนึ่งที่กำลังเป็นที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน นั่นคือ "Phishing" ซึ่งเป็นการปลอมแปลงอี-เมล์ (E-mail Spoofing) และทำการสร้างเว็บไซต์ปลอมที่มีเนื้อหาเหมือนกับเว็บไซต์ของจริงและมี Address ใกล้เคียงกับเว็บไซต์จริง เพื่อทำการหลอกลวงให้เหยื่อหรือผู้รับอี-เมล์เปิดเผยข้อมูลทางด้านการเงินหรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ อาทิ ข้อมูลของหมายเลขบัตรเครดิต บัญชีผู้ใช้ (Username) และ รหัสผ่าน (Password) หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลส่วนบุคคลอื่นๆ

ไวรัสคอมพิวเตอร์เข้ามาคุกคามระบบได้อย่างไร

โดยปกติแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์เข้าคุกคามระบบได้เนื่องจากสาเหตุหลักๆ 3 ประการ คือ

1) มีการเรียกใช้งานไฟล์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่

ในส่วนของสาเหตุจากการที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เรียกใช้งานไฟล์ที่มีไวรัสคอมพิวเตอร์ฝังตัวอยู่แล้วทำให้ระบบถูกไวรัสคอมพิวเตอร์เข้ามาคุกคามได้นั้นเป็นสาเหตุซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี นอกจากการฝังตัวอยู่กับไฟล์ของผู้ใช้งานซึ่งเป็นรูปแบบของไวรัสคอมพิวเตอร์แบบยุคต้นๆ แล้วนั้น ในปัจจุบันไวรัสคอมพิวเตอร์มักจะใช้หลักจิตวิทยาที่เรียกว่า Social Engineering เพื่อทำการล่อลวงให้ผู้ใช้งานเรียกเปิดไฟล์ที่เป็นไวรัส เช่น แฝงมาในรูปแบบของโปรแกรมการ์ดอวยพร หรือ โปรแกรม screen saver หรือ แฝงอยู่ในไฟล์ที่ได้รับมาจากบุคคลที่ผู้ใช้รู้จัก ซึ่งผู้ใช้อาจจะได้รับมาทางอี-เมล์ที่มีการปลอมแปลงว่ามาจากบุคคลที่ผู้ใช้รู้จัก หรือไวรัสอาจแฝงอยู่ในรูปแบบของ link ในอี-เมล์หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่หลอกลวงให้ผู้ใช้ click เพื่อเรียกใช้งาน เป็นต้น

2) ระบบที่ไม่มีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus หรือมีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus แต่ไม่ได้ทำการ update ฐานข้อมูลไวรัส

สำหรับสาเหตุหลักอีกสาเหตุหนึ่งของการที่ระบบถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามคือการที่ระบบไม่มีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus หรือมีการใช้งานโปรแกรม Anti-Virus แต่ไม่ได้ทำการ update ฐานข้อมูลไวรัสให้ทันสมัยอยู่เสมอ ซอฟต์แวร์ Anti-Virus ส่วนใหญ่จะสามารถต่อต้านการคุกคามจากไวรัสคอมพิวเตอร์ที่โปรแกรมรู้จักซึ่งจะได้รับการจัดเก็บอยู่ในฐานข้อมูลไวรัสคอมพิวเตอร์ (Virus Definition Database) ซึ่งจำเป็นต้องมีการ Update ฐานข้อมูลดังกล่าวนี้ให้ทันสมัยอยู่เสมอเพื่อให้โปรแกรมรู้จักและสามารถต่อต้านไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวใหม่ๆ ได้ บางท่านอาจมีความเชื่อที่ผิดๆ ว่าหากมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ Anti-virus บนระบบแล้วไวรัสคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถเข้ามาคุกคามระบบได้ ในความเป็นจริงแล้วถึงแม้ระบบจะมีการติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวอยู่ แต่หากไม่มีการ update ฐานข้อมูลไวรัสให้ทันสมัยอยู่เสมอ หรือ ไม่มีการใช้งานซอฟต์แวร์ Anti-virus เพื่อตรวจสอบโดยละเอียดว่าระบบปราศจากไวรัสคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอแล้วนั้น ไวรัสคอมพิวเตอร์ก็ยังอาจสามารถเข้ามาคุกคามระบบได้ ยิ่งไปกว่านั้นถึงแม้ซอฟต์แวร์ Anti-virus จะได้รับการติดตั้งและใช้งานอย่างเหมาะสมทุกประการ แต่ระบบก็ยังอาจมีความเสี่ยงต่อการถูกคุมคามอยู่หากระบบมีช่องโหว่ (Vulnerbilities) ซึ่งจะกล่าวถึงในช่วงต่อไป

3) ระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนระบบมีช่องโหว่ (Vulnerbilities) พร้อมทั้งระบบมีการเชื่อมต่อกับเครือข่าย

สำหรับสาเหตุในส่วนของการที่ระบบมีช่องโหว่นั้นยังไม่ค่อยเป็นที่เข้าใจและตระหนักถึงกันอย่างถ่องแท้มากนัก ในความเป็นจริง ระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ที่ทำงานอยู่บนระบบมักจะมีช่องโหว่อยู่ทั้งสิ้น ซึ่งมักจะมีผู้ค้นพบช่องโหว่ใหม่ๆ ของระบบอยู่เรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ช่องโหว่ (vulnerbilities) มีความหมายคล้ายๆ กับ จุดบกพร่อง (Bugs) ของระบบ โดยรวมๆ ช่องโหว่หมายถึง การที่ระบบมีช่องทางให้ผู้โจมตีสามารถเข้ามาครอบครอง ควบคุมการทำงาน นำไวรัสคอมพิวเตอร์มาเรียกใช้งาน หรือ ทำการบางอย่างบนระบบได้ ในกรณีที่ท่านใช้ระบบปฏิบัติการ Microsoft Windows ท่านสามารถตรวจสอบว่าระบบของท่านมีช่องโหว่อะไรบ้างได้โดยการเรียกใช้งาน Windows Update หรือ browse ไปที่ http://windowsupdate.microsoft.com/ท่านอาจพบว่าระบบของท่านมีช่องโหว่ที่ร้ายแรงมากมาย ซึ่งช่องโหว่เหล่านี้เป็นช่องทางให้ไวรัสคอมพิวเตอร์หรือผู้ไม่ประสงค์ดีสามารถเข้ามาในระบบของท่านผ่านเครือข่ายได้ การที่ระบบมีช่องโหว่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า "อยู่ดีๆ ก็ติดไวรัส" นั่นเอง นอกจากนี้การใช้งานระบบปฏิบัติการหรือซอฟต์แวร์ในบางลักษณะก็ทำให้เกิดช่องโหว่ได้ เช่น การให้โปรแกรมเปิดอ่านอี-เมล์และไฟล์ที่แนบมาโดยอัตโนมัติ การอนุญาตให้บุคคลอื่นนำไฟล์มาติดตั้งบนระบบได้ (Full-Right File Sharing) เป็นต้น

การแก้ไขระบบที่ติดไวรัสคอมพิวเตอร์

การแก้ไขระบบที่ถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามนั้นแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับไวรัสที่เข้ามาคุกคามระบบ ดังนั้นก่อนอื่นท่านจะต้องทราบก่อนว่าไวรัสอะไรเข้ามาอยู่บนระบบของท่าน ส่วนใหญ่ระบบที่ถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคามคือระบบที่ไม่มีการใช้งานโปรแกรม Anti-virus หรือมีการใช้งานโปรแกรม Anti-virus แต่ไม่ได้ทำการ update ฐานข้อมูลไวรัส ดังนั้นการจะทราบถึงว่าไวรัสอะไรอยู่ในระบบได้นั้น ท่านสามารถเลือกใช้วิธีการต่อไปนี้

  • นำเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นที่มีซอฟต์แวร์ Anti-virus ติดตั้งอยู่และได้รับการ update ฐานข้อมูลไวรัสให้ทันสมัยและผ่านการตรวจสอบแล้วว่าระบบปราศจากไวรัสคอมพิวเตอร์ เข้ามาช่วยในการตรวจสอบว่าระบบของท่านถูกไวรัสอะไรคุกคาม (สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบไวรัสโดยอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์อื่นด้วยการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่องผ่านเครือข่าย (หรือการต่อสาย Cross) สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้ เช่น ThaiCERT ฯ)
  • ใช้บริการระบบตรวจหาไวรัสคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บ (ฟรี) เช่นที่ http://housecall.trendmicro.com/housecall/ หรือ http://www.pandasoftware.com/products/activescan/ เป็นต้น จุดอ่อนของวิธีนี้คือการตรวจสอบอาจทำได้ไม่เร็วนักเนื่องจากความล่าช้าของเครือข่าย นอกจากนั้นระบบเหล่านี้อาจไม่ทำงานบนระบบของท่านที่มีซอฟต์แวร์ Anti-virus ยี่ห้ออื่นติดตั้งอยู่ และยิ่งไปกว่านั้น ไวรัสบางชนิดทำให้ระบบของท่านไม่สามารถใช้งานเครือข่ายได้เลย

บางท่านอาจสงสัยว่าทำไมไม่ใช้วิธีติดตั้งซอฟต์แวร์ Anti-virus และ/หรือ update ฐานข้อมูลไวรัส และเรียกใช้งานโปรแกรมดังกล่าว เพื่อทำการตรวจหาไวรัสบนระบบของท่าน จุดอ่อนของวิธีนี้คือเมื่อระบบของท่านถูกไวรัสคุกคาม ไวรัสอาจทำการปิดกั้นหรือขัดขวางระบบทำให้ท่านไม่สามารถติดตั้งหรือเรียกใช้งานซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้ หรืออาจทำให้ซอฟต์แวร์ Anti-virus ทำงานขัดข้องหรือบกพร่องได้

เมื่อทราบว่าระบบติดไวรัสชนิดใดแล้ว ให้ทำการจัดหาโปรแกรมสำหรับกำจัดไวรัสคอมพิวเตอร์ตัวนั้นๆ (Fix Tool) มาใช้กำจัดไวรัสบนระบบของท่าน ซึ่งท่านสามารถ download โปรแกรม Fix Tool เหล่านี้มาใช้งานได้ฟรีจากเว็บไซต์ต่างๆ เช่น http://securityresponse.symantec.com/avcenter/tools.list.html หรือ http://www.pandasoftware.com/download/utilities/ เป็นต้น ท่านอาจจะต้องทำให้ระบบปฏิบัติการของท่านทำงานใน Safe Mode (ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ) เพื่อที่จะให้โปรแกรม Fix Tool เหล่านี้ทำงานได้อย่างมีความถูกต้องสูงสุด
เมื่อกำจัดไวรัสบนระบบของท่านหมดแล้ว ให้ทำการตรวจสอบว่าระบบปฏิบัติการของท่านมีช่องโหว่ที่ critical อยู่หรือไม่ ถ้ามี ให้ทำการแก้ไข ซึ่งการตรวจสอบและแก้ไข โดยปกติทำได้โดยการ browse ไปที่ http://windowsupdate.microsoft.com/ เมื่อแก้ไขช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการเสร็จแล้ว ให้ทำการติดตั้งโปรแกรม Anti-virus และ/หรือ update ฐานข้อมูลไวรัสให้ทันสมัยที่สุด และเรียกใช้งานโปรแกรมดังกล่าวเพื่อทำการตรวจสอบระบบของท่านโดยละเอียดอีกครั้งหนึ่งว่าปราศจากไวรัสคอมพิวเตอร์แล้ว

โดยสรุปแล้ว ขั้นตอนคร่าวๆ ในการแก้ไขระบบที่ติดไวรัสคอมพิวเตอร์ คือ

    1. ตรวจสอบว่าระบบติดไวรัสอะไร โดยการใช้โปรแกรมสำหรับตรวจสอบไวรัสซึ่งอาจทำได้โดยการอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์อีกเครื่องหนึ่งเข้ามาต่อพ่วงเพื่อช่วยในการตรวจสอบ หรืออาศัยระบบการตรวจสอบไวรัสคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บ (Web-based virus scan engine)
    2. Download โปรแกรมสำหรับแก้ไขไวรัสที่ตรวจพบมาใช้กำจัดไวรัส
    3. อุดช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการ
    4. Update ฐานข้อมูลไวรัสของโปรแกรม Anti-virus แล้วใช้โปรแกรมทำการตรวจหาไวรัสบนระบบอีกครั้ง

การป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์

ท่านควรปฏิบัติตามข้อแนะนำต่อไปนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบของท่านถูกไวรัสคอมพิวเตอร์คุกคาม (ข้อควรปฏิบัติ 2 ประการแรก เป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด)

  1. ติดตั้งโปรแกรม Anti-virus บนระบบของท่าน และ
    • ทำการ update ฐานข้อมูลไวรัสของโปรแกรมอยู่เสมอ (เลือกใช้งาน feature การ update ฐานข้อมูลผ่านเครือข่ายโดยอัตโนมัติของโปรแกรม ถ้ามี)
    • เรียกใช้งานโปรแกรมเพื่อตรวจสอบหาไวรัส ทุกครั้งก่อนเปิดไฟล์จากแผ่นหรือสื่อบันทึกข้อมูลต่างๆ
    • เรียกใช้งานโปรแกรมเพื่อตรวจสอบหาไวรัส อย่างละเอียด บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่าน อย่างสม่ำเสมอ เช่น 1 ครั้งต่อสัปดาห์
      หมายเหตุ: หากท่านไม่ต้องการที่จะเสียเงินซื้อซอฟต์แวร์ Anti-virus อย่างน้อยท่านควรจัดหาซอฟต์แวร์ Anti-virus ที่เป็น Freeware มาติดตั้งและใช้งาน ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ฟรีดังกล่าว ได้แก่ Avast Anti-Virus Free Home-Edition (http://www.avast.com/) และ AVG Anti-Virus Free Edition (http://free.grisoft.com/)
  2. ตรวจสอบและอุดช่องโหว่ของระบบปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งท่านสามารถทำได้โดยการ browse ไปที่ http://windowsupdate.microsoft.com/และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุไว้บนเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อทำการตรวจสอบและแก้ไขช่องโหว่ที่ critical ของระบบ
  3. ปรับแต่งการทำงานของระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์บนระบบให้มีความปลอดภัยสูง เช่น
    • ปรับแต่งไม่ให้โปรแกรมที่ใช้อ่านอี-เมล์เช่น Microsoft Outlook ทำการเปิดไฟล์ที่แนบมากับอี-เมล์ (attachment) อย่างอัตโนมัติ
    • ปรับ Security Zone ของ Microsoft Internet Explorer ให้เป็น High Security โดยปรับแต่งที่ Internet Option ของโปรแกรม Internet Explorer
    • ไม่ควรอนุญาตให้โปรแกรม Microsoft Office เรียกใช้งาน Macro
    • เปิดใช้งานระบบ Firewall ที่ built-in อยู่บนระบบปฏิบัติการ MS Windows XP
    • งดใช้ Feature การ share ไฟล์ผ่านเครือข่าย หากไม่มีความจำเป็น
  4. ใช้ความระมัดระวังในการเปิดอ่านอี-เมล์ และการเปิดไฟล์จากสื่อบันทึกข้อมูลต่าง ๆ
    • หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านอี-เมล์และไฟล์ที่แนบมากับอี-เมล์ จนกว่าจะรู้แหล่งที่มา
    • หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านอี-เมล์ที่มีหัวเรื่องที่เป็นข้อความจูงใจเช่น ภาพเด็ด รหัสผ่าน คุณถูกรางวัล เป็นต้น
    • ตรวจสอบหาไวรัสบนสื่อบันทึกข้อมูล ทุกครั้งก่อนเรียกใช้งานไฟล์บนสื่อนั้นๆ
    • ไม่ควรเปิดไฟล์ที่มีนามสกุลแปลกๆ เช่น .pif รวมทั้งไฟล์ที่มีนามสกุลซ้อนกันเช่น .jpg.exe, .gif.scr, .txt.exe เป็นต้น
    • ไม่ใช้สื่อบันทึกข้อมูล ที่ไม่ทราบแหล่งที่มา และหลีกเลี่ยงการใช่สื่อบันทึกข้อมูลร่วมกับบุคคลและระบบอื่นๆ
    • ถือคติพจน์ว่า "ไม่ใช้แผ่นมั่ว ไม่ชัวร์อย่าเปิด"
  5. สำรองข้อมูลที่สำคัญบนระบบอยู่เสมอ ข้อนี้ไม่ได้เป็นการป้องกันไวรัสคอมพิวเตอร์แต่เป็นข้อควรปฏิบัติที่ท่านควรทำ เพราะไม่มีระบบใดที่ปลอดภัย 100 % วันดีคืนดี ระบบคอมพิวเตอร์ของท่านอาจเกิดการล่มและไม่สามารถกู้คืนมาได้ ซึ่งอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย เช่น อุปกรณ์หรือสื่อบันทึกข้อมูลเกิดการชำรุด หรือระบบอาจถูกไวรัสที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนคุกคามร้ายแรง เป็นต้น